น้ำตาลโตนด ตำนาน คุณค่าที่มากกว่าความหวาน

นายดอกไม้Guide

จุดเด่นของน้ำตาลโตนดคือความหอมหวานต่างจากน้ำตาลชนิดอื่น เมื่อนำมาประกอบอาหารจึงมีความหอมหวานอร่อยที่ได้มาจากเอกลักษณ์เฉพาะตัวของน้ำตาลชนิดนี้  

เมื่อพูดถึง "จังหวัดเพชรบุรี" เราจะนึกถึง น้ำตาลโตนด ลูกตาล ขนม ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจาก "ต้นตาลโตนด" ที่นี่มีต้นตาลโตนดอยู่มากที่สุดในประเทศ อาชีพดั้งเดิมของคนที่นี่จึงเกี่ยวพันกับตาลและเกษตรกรรมต่างๆ ขนมอร่อยๆจากทั้งร้านเก่าแก่และร้านใหม่สร้างชื่อเสียงให้ผู้คนทั่วไปรู้จัก คนผ่านไปผ่านมาต้องแวะซื้อขนมติดไม้ติดมือกลับบ้านเป็นของฝาก จนสร้างงานสร้างรายได้ให้คนที่นี่ได้มีอาชีพทำกันแบบสบายๆ
ขนมที่นี่อร่อยจนสร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ร้านขนมดั้งเดิมจะใช้ "น้ำตาลโตนด" เป็นวัตถุดิบหลัก ทำให้ขนมที่มีรสชาติอร่อยกลมกล่อม มีความแตกต่างกับขนมจากที่อื่น ถ้าท่านไปเที่ยวอยากได้บรรยากาศเก่าๆแบบย้อนยุค ลองแวะไปเที่ยวซื้อขนมจากร้านแบบบ้านๆดั้งเดิมดู บางร้านยังเห็นคุณยายคุณย่ามานั่งขายให้เราอยู่เลย แต่คนทำจะเป็นรุ่นลูกรุ่นหลานที่ได้รับถ่ายทอดวิธีการทำมาทำแล้วเป็นคนทำ ส่วนคุณคุณย่าคุณยายคงมีความสุขกับการพบปะผู้คนมากกว่า
น้ำตาลโตนด เป็นน้ำตาลที่ได้จากต้นตาลโตนด ซึ่งในกรณีที่เป็นต้นตาลตัวผู้จะได้จากงวงตาล โดยใช้มีดตาล ปาดตรงบริเวณปลายงวง เพื่อให้น้ำตาลไหลซึมออกมา ในกรณีที่เป็นต้นตัวเมียให้ใช้ไม้คาบนวดระหว่างลูกประมาณ 3 วัน แล้วใช้มีดปาดตาลปาดตรงบริเวณปลายจั่นหรืองวง ถ้ามีน้ำตาลไหลออกมาก็แสดงว่าใช้ได้
กว่าจะได้น้ำตาลโตนดมาไม่ง่ายเลย ต้นตาลโตนดโตเต็มที่สูงได้กว่า 18- 25 เมตร ต้องอาศัยคนที่มีความชำนาญในการขึ้นต้นตาล เดี๋ยวนี้คนขึ้นหายากเพราะไปทำงานอาชีพอื่นกันหมดเหลือแต่คนสูงอายุ นอกจากนั้นไม้พะองสำหรับใช้ขึ้นตาลก็เหลือน้อยลงและราคาแพงขึ้น คนรุ่นใหม่ก็หันไปทำงานอย่างอื่น มีแต่คนสูงอายุที่ยังทำอาชีพนี้ได้ เพราะเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความอดทนสูง ทั้งร้อน เหนี่อยและต้องฝึกฝน ได้น้ำตาลโตนดมาแล้วต้องอาศัยความชำนาญในการเก็บรักษาคุณภาพของน้ำตาล โดยการใช้ไม้พยอมซึ่งเป็นพืชใส่เพื่อกันน้ำตาลบูดแทนสารกันบูดแบบธรรมชาติและรีบนำกลับมาเคี่ยวอีกหลายชั่วโมง ถ้าใส่ไม้พยอมมากเกินน้ำตาลก็จะขมเคล็ดลับก็อยู่ตรงนี้ว่าน้ำตาลเตาไหนจะอร่อยหรือจะสะอาดแค่ไหน
อนนี้การทำน้ำตาลโตนดแบบชาวบ้านที่นี่อาจจะลดน้อยถอยลงไป การผลิตแบบอุตสาหกรรมคืบคลานเข้ามายืดพื้นที่การตลาดส่วนใหญ่ไป แต่ด้วยวัตถุดิบคือตาลโตนดของที่นี่เรื่องรสชาติก็ยังคงคุณภาพความอร่อยไว้เหมือนเดิม ยกเว้นมีบางเจ้าอาจลักไก่ใช้ น้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลทราย มาผสมเพื่อลดต้นทุน รสชาติก็จะผิดเพี้ยนไป 
วิธีเลือกน้ำตาลโตนด ถ้าวางขายในอากาศปกติ จะละลายและค่อยๆคืนตัว จะไม่จับตัวแข็งเป็นก้อน ยิ่งในอากาศร้อนๆ ละลายแน่นอนครับ เวลาแช่เย็นช่องธรรมดา น้ำตาลจะยังนิ่ม นิ้วมือสามารถกดลงได้ไม่แข็งมาก ถ้าจะซื้อของแท้แนะนำให้ลองชิมเลยครับบางที จะมีคนเอาน้ำตาลมะพร้าว 100 % มาบอกเป็น น้ำตาลโตนด เพราะสีที่คล้ายกัน จึงต้องชิม รสชาติน้ำตาลโตนดแท้จะออกขมนิดหน่อย ความรู้สึกจะหวานหอมในคอนุ่มละมุนลิ้นมาก ไม่หวานแสบคอพูดสามารถทานเล่นได้เลย คนเพชรสมัยปู่ย่าจะนิยมเอามาจิ้มทานกับเม็ดขนุนต้ม เนื้อน้ำตาลเหนียวละเอียดแต่จะไม่ติดมือครับ
นอกจากขนมหวาน น้ำตาลโตนดยังมาปรุงอาหารคาวได้ แถมยังหอมอร่อยกลมกล่อม ร้านอาหารดังๆหลายๆเจ้าใช้น้ำตาลโตนดแทนน้ำตาลชนิดอื่นๆ ร้านอาหารปักษ์ใต้เจ้าอร่อยๆที่ผมไปทานสูตรเด็ดเคล็ดลับหนึ่งก็ใช้น้ำตาลโตนดเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องปรุง ผมเคยไปเที่ยวแถวปราณบุรี แวะทานอาหารกลางวันที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งแถวจังหวัดเพชรบุรี อาหารร้านนี้อาหารรสชาติอร่อยจัดจ้าน แต่ที่ติดใจอย่างหนึ่งจดจำความอร่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ก็คือน้ำจิ้มลูกชิ้นปิ้งของร้านนี้ ลูกชิ้นธรรมดาๆเหมือนร้านอื่นทั่วไปแต่น้ำจิ้มอร่อยสุดๆไปเลย ทานแล้วติดใจครับ ผมเจ้าของร้านว่าทำไมน้ำจิ้มถึงได้หอมหวานอร่อยนุ่มลิ้นอย่างนี้ ได้คำตอบว่าใช้น้ำตาลโตนดเป็นส่วนผสมหลัก อันนี้เป็นสูตรเด็ดเคล็ดลับที่ผมอยากจะแนะนำท่านผู้อ่านไปลองทำกันดู ทำทานเองก็อร่อยถ้าเอาไปทำขายรับรองว่าเพิ่มยอดขาย ได้ลูกค้าประจำแน่นอนครับ
พูดถึง จังหวัดเพชรบุรี น้ำตาลโตนด อีกอย่างที่ต้องพูดถึงขาดเสียไม่ได้ "ขนมหม้อแกง" หรือ ขนมกุมภมาศ คือขนมที่ใช้ไข่ แป้ง และกะทิเป็นส่วนประกอบสำคัญ นำผสมกันในถาดตามสัดส่วน แล้วจึงนำไปอบจนหน้าของขนมหม้อแกงมีสีน้ำตาลทอง น่ารับประทาน ปัจจุบันมีการทำเผือก เม็ดบัว ถั่ว และหอมเจียว มาผสม และแต่งหน้าขนมหม้อแกง ทำให้ขนมหม้อแกงมีรสชาติที่กลมกล่อมมากขึ้น
ส่วนประกอบหลักของขนมหม้อแกง ทำให้ขนมหม้อแกงได้รับความนิยมชมชอบจากชนชั้นสูงในวัง และได้รับการขนานนามว่า ขนมกุมภมาส ต่อมาเมื่อลูกมือในบ้านของท้าวทองกีบม้าได้แต่งงาน จึงได้นำสูตรและวิธีการทำขนมหม้อแกงออกมาถ่ายทอด ทำให้ชาวบ้าน คนธรรมดา ได้มีโอกาสรู้จักกับขนมหม้อแกง
เมื่อปีพ.ศ. 2529 จังหวัดเพชรบุรี ได้มีการบูรณะพระนครคีรีให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ ทำให้ชาวบ้านในละแวกนั้นทำขนมหม้อแกงที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นออกมาจำหน่าย ทำให้ขนมหม้อแกงเป็นขนมที่ขึ้นชื่อของจังหวัดเพชรบุรี
ขนมหม้อแกงสมัยก่อนจะทำกินกันเฉพาะในงานสำคัญ เช่น งานบวช หรืองานแต่งงาน ซึ่งขนมหม้อแกงนั้นจะถูกอบในเตาถ่านที่ใช้แผ่นสังกะสีมาคลุมบนถาดขนม แล้วใช้ถ่านหรือกาบมะพร้าวจุดไฟ แล้วเกลี่ยให้ทั่วสังกะสี ขนมหม้อแกงจะได้รับความร้อนทั้งด้านบน และด้านล่าง ทำให้หน้าของขนมหม้อแกงมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลทอง
ตาลโตนดเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ขนมหอมหวานอร่อย เพิ่มรสหวานกลมกล่อมให้อาหารหลากหลายชนิด สร้างอาชีพ สร้างเงิน สร้างงาน เป็นวิถีชีวิตที่มีคุณ จาก ปู่ย่า ตายาย ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านวันเวลา เป็นสิ่งที่สำคัญและทรงคุณค่าอย่างหนึ่งของ จังหวัดเพชรบุรี  กินน้ำตาลโตนดนอกจากดีต่อสุขภาพ ยังช่วยอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมอันเก่าแก่และมีคุณค่าของคนไทย ให้คงอยู่สร้างความภาคภูมิใจและช่วยสร้างชุมชนยั่งยืนครับ 


แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า