สำเพ็ง

ย่านการค้าอีกที่หนึ่งที่ผมชอบมาเดินเล่น และทำให้ผมรู้สึกสบายใจ สัมผัสได้ถึงกลิ่นอายของความเก่าแก่ ความหลากหลายของสินค้าและผู้คน ทำให้การมาเดินจับจ่ายในย่านการค้าแห่งนี้มีมนต์เสน่ห์ และอยู่ในดวงใจของคนไทยมายาวนานครับ
สำเพ็ง หรือ สามเพ็ง เป็นย่านการค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ในแขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ อยู่ใกล้กับย่านเยาวราช ถนนราชวงศ์ และต่อเนื่องไปถึงสะพานหัน พาหุรัดและวังบูรพา ในพื้นที่แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร ทั้งนี้สำเพ็งในปัจจุบัน รู้จักกันดีในชื่ออย่างเป็นทางการว่า ซอยวานิช1 และในช่วงระหว่างสะพานหันถึงถนนจักรวรรดิเรียกว่า "ตรอกหัวเม็ด" 
สำเพ็งเริ่มต้นจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงสถาปนาสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็นราชธานีแห่งใหม่แทนที่กรุงธนบุรี ในปี พ.ศ 2325 โดยมีพระบรมมหาราชวังตั้งขึ้นในพื้นที่ ๆ แต่เดิมเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวจีน และโปรดให้ย้ายชุมชนชาวจีนออกไปตั้งถิ่นฐานใหม่นอกประตูพระนครทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ขนานไปกับลำน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่คลองวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาส) ไปจนถึงคลองสามเพ็ง 
ที่มาของชื่อสำเพ็งนั้นไม่มีใครทราบว่ามีความหมายว่าอย่างไร หรือมาจากคำว่าอะไร ได้มีผู้สันนิษฐานไปต่าง ๆ นานา บ้างก็ว่ามาจากคำว่า สามแพร่ง หรือมาคำจีนแต้จิ๋วว่า สามเผง (จีนกลางออกเสียง ซั้นผิ่ง) แปลตรงตัวได้ว่า "ศานติทั้งสาม"  ซึ่งก็ไม่มีใครทราบความหมายหรือคำแปลที่แท้จริง หรือบ้างก็ว่ามาจากคำว่า สามปลื้ม ก็มี
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกิจการค้าของชาวจีนที่ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในย่านสำเพ็งเติบโตขึ้นเป็นลำดับ ชาวตะวันตกที่เข้ามาติดต่อการค้ากับสยามประเทศ เรียกขานย่านสำเพ็งว่า "ตลาดจีน" หรือ Chinese Bazaar ในบันทึกของมิชชันนารีที่ได้เข้ามาเยี่ยมดูย่านสำเพ็งในปี พ.ศ. 2378 ระบุความไว้ตอนหนึ่งว่า ตลาดทั้งหมดดูแล้วน่าจะเรียกว่า เมืองการค้า (trading town) มากกว่า ที่นี่มีร้านค้ามากมายหลากหลาย ตั้งอยู่บนสองฝั่งฟากถนนยาวราว 2 ไมล์ แต่ด้วยเหตุที่ร้านค้าต่าง ๆ ตั้งอยู่ปะปนกัน เดินเพียงไม่กี่หลาก็สามารถหาซื้อสินค้าประเภทต่าง ๆ ได้ครบตามที่ต้องการ
แต่ในขณะเดียวกัน สำเพ็งก็เป็นสถานที่ขึ้นชื่อในเรื่องซ่องโสเภณีด้วย สุนทรภู่ได้รจนาเรื่องนี้ไว้ในนิราศเมืองแกลง ความว่า
"ถึงสำเพ็งเก๋งตั้งริมฝั่งน้ำ แพประจำยอดเรียงเคียงขนาน 
มีซุ้มซอกตรอกนางจ้างประจาน ยังสำราญร้องขับไม่หลับลง"                                                   
จนครั้งหนึ่งคำว่า อีสำเพ็ง กลายเป็นคำด่าผู้หญิงที่หมายถึง โสเภณี และในสมัยนั้น สำเพ็งเต็มไปด้วยร้านค้าตลอดจนซ่องโสเภณีและโรงฝิ่นที่ปลูกติดกันจนแน่นขนัด หลังคาของแต่ละหลังเกยกัน ก่อให้เกิดเพลิงไหม้บ่อย ๆ จนมีคำเปรียบเปรยว่าที่นี่ ไก่บินไม่ตกพื้น  
ปัจจุบัน สำเพ็งเป็นย่านการค้าที่คึกคักมากที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร โดยเปิดขายตั้งแต่เวลา 08:00 ถึง 17:00 น. ในเวลากลางวัน และยังในเวลากลางคืนตั้งแต่เวลา 23:00 น. จนล่วงเข้าสู่วันใหม่ในเวลา 01:00 หรือจนถึง 06:00 น. ในยามเช้า โดยสินค้าที่นิยมขาย ได้แก่ กิฟต์ช้อป เครื่องประดับตกแต่งเสื้อผ้า, เสื้อผ้าแฟชั่น หมวก นาฬิกา ตุ๊กตาหรือของเล่นเด็ก รวมถึงอาหารด้วย เป็นต้น โดยมีทั้งขายปลีกและขายส่ง
#สำเพ็ง #ตลาดำเพ็ง #ประวัติความเป็นมาของสำเพ็ง #ทำไมจึงเรียกสำเพ็ง #ย้อนเวลาหาอดีต

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า