ที่มาของคำว่าสะพานควาย

เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมเขาถึงตั้งชื่อว่า "สะพานควาย" แยกสะพานควาย เป็นสี่แยกแห่งหนึ่งในพื้นที่แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร เป็นทางแยกตัดกันของถนนพหลโยธิน ถนนประดิพัทธ์ และถนนสาลีรัฐวิภาค ผมต้องมาทำงานแถวนี้ทุกวันเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนในโรงแรมแห่งหนึ่ง จึงทำให้เกิดความสงสัยหาข้อมูลมาจากในอินเตอร์เน็ตจึงได้คำตอบ โรงแรมที่ผมไปทำงานชื่อ กานต์มณีพาเลซ ผมเป็นเล่นเปียโนอยู่ที่นั่น ซึงเจ้าของก็คือ คุณวิเชียร กลิ่นสุคนธ์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินติดสามแยกสะพานควายและเป็นผู้มีส่วนในการตั้งชื่อนี้ 
ชื่อ "สะพานควาย" มาจากพื้นที่แถบนี้ในอดีต มีสภาพเป็นทุ่งนาและป่า รวมถึงคูคลองและสวนผัก ที่มีนายฮ้อย หรือพ่อค้าวัวควายจากภาคอีสานเดินทางมาขายยังภาคกลาง และมาไกลถึงยังพื้นที่นี้ด้วย โดยที่กลางทุ่งนานั้นจะมีสะพานไม้สร้างไว้เพื่อให้ฝูงวัวและควายเดินข้ามคูส่งน้ำได้สะดวก โดยเฉพาะในช่วงหัวค่ำ นี่คือที่มาของชื่อแบบย่อครับ 

ที่มาของคำว่าสะพานควายแบบเต็มๆ

ประวัติของสะพานควายและศรีศุภราชอาเขต

ทุ่งรวงทองอู่ข้าวอู่น้ำอันสมบูรณ์กว้างใหญ่ไพศาลของกรุงเทพมหานคร ไม่มีที่ไหนเกินกว่า “ทุ่งศุภราช” อยู่ทิศเหนือของ “ทุ่งพญาไท” ระหว่างคลองสามเสน กับ คลองบางซื่อ มีคลองศุภราชอยู่กึ่งกลาง ปากคลองเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ติดกับวัดจันทร์สโมสรหรือโรงเบียร์บุญรอดขณะนี้ กระจายน้ำให้ชาวนาทุ่งศุภราช ทุ่งศุภราชจึงเป็นอู่ข้าวอู่น้ำจากกระแสธารทั้งสาม ปัจจุบันคลองศุภราชได้แปรสภาพเป็น “ซอยศุภราช ซอยเสนาร่วม” กับอีกหลายชื่อและหายไปบางตอน

ในอดีต ชาวนาใช้ควายเป็นเครื่องมือในการผลิต…“นายฮ้อย” กับชาวนาจึงอยู่คู่กันเสมอ เมื่อถึงฤดูแล้งว่างนา นายฮ้อยจากอิสาน ก็ต้อนควายมาขายให้ชาวนาเลือกซื้อไว้ทำนา ตัวไหนแก่เกินงานก็รอพ่อค้าโรงเชือดซึ่งอยู่ที่ถนนตกมาซื้อไปฆ่า

บริเวณทุ่งว่างชานเมืองข้างคลองบางซื่อ ด้านใต้ฟากตะวันออกของถนนพหลโยธิน หน้าแล้งจึงเต็มไปด้วยฝูงควายของนายฮ้อย ขณะนั้นฟากตะวันตกของถนนพหลโยธินมีถนนปฎิพัทธ์ตัดมาเชื่อมกับ ถนนพหลโยธิน…มีบ้านเรือนมากแล้ว เนื่องจากข้างถนนพหลโยธิน มีคูน้ำส่งน้ำจากคลองบางซื่อ ขวางสามแยกถนนปฎิพัทธ์ กับ ถนนพหลโยธิน จึงทำสะพานให้ควายเดินข้าม โดยใช้ไม้พาดให้ควายข้ามคูส่งน้ำเข้าถนนปฎิพัทธ์ ต่างก็เรียกขานกันว่า “สะพานควาย” ในธุรกิจซื้อขายควายของนายฮ้อยกับชาวนา และพ่อค้าโรงฆ่าได้ข้ามไปมากันได้สะดวก…

ขณะนั้นรถยนต์ยังมีน้อย เมื่อมีบ้านเรือนหนาแน่นมากขึ้นมีรถโดยสาร และรถบรรทุก จำเป็นต้องผ่าน ถนนปฎิพัทธ์ กับถนนพหลโยธิน ไม้พาดคลองส่งน้ำจึงเปลี่ยนเป็นสะพานไม้แทนและต่อมาก็เปลี่ยนเป็น สะพานคอนกรีตถาวรชื่อ… “สะพานควาย” เลยเรียกขานกันจนบัดนี้

ส่วนตึกศรีศุภราชมีที่มาดังนี้คือกว่า 48 ปีแล้วที่ คุณวิเชียร กลิ่นสุคนธ์ เจ้าของที่ดินติดสามแยกสะพานควาย ได้สร้างตลาดขึ้นใคร่จะเปลี่ยนชื่อสะพานควายเป็นนวัตกรรมใหม่ ได้ปรึกษากับหลวงบุณยมานพ หรือ “แสงทอง”ว่าจะใช้ชื่ออะไรแทน ท่านก็คิดชื่อ ที่มีความหมายเช่นเดียวกัน คือ “ยมพาหนะ”คือควายซึ่งเป็นพาหนะของพระยม นายวิเชียร กลิ่นสุคนธ์ เห็นว่าชื่อนี้น่ากลัวกว่าเดิม จึงเพียรพยายามใหม่ไปพบ พลเรือตรีหลวงสุวิญานอดีต ผอ.รพ.ทหารเรือซึ่งเป็นโหรใหญ่ ท่านก็ศึกษาว่า ทุ่งศุภราช ซึ่งหมายถึงทุ่งโคศุภราช ก็ควรคงนามอันเป็นมงคลนี้ไว้โดยให้ตั้งชื่อตลาดนี้ว่า“ตลาดศรีศุภราช” หรือศรีศุภราชอาเขต
มีประวัติจากท้องถิ่นมิให้เลือนหายไป และให้ตำนาน“สะพานควาย” ย่านธุรกิจการเกษตรชานเมืองในอดีต
ของเขตพญาไท ปรากฏในความทรงจำตลอดไป…
แหล่งข้อมูล to-Z news.com

ปัจจุบัน

บริเวณแยกสะพานควายเป็นย่านที่คึกคัก เต็มไปด้วยตลาดและร้านค้า เป็นที่ตั้งของธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล และสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สะพานควาย อีกทั้งยังเคยเป็นที่ตั้งของห้างเมอร์รี่คิงส์ สะพานควาย ที่เปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2528 และเกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อปี พ.ศ. 2529 ซึ่งปัจจุบันกิจการของเมอร์รี่คิงส์ก็ได้ปิดตัวไปแล้ว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจุดที่เป็นที่ตั้งของห้างบิ๊กซีสะพานควาย ในเวลานี้ 

#สะพานควาย #ใครเป็นคนตั้งชื่อสะพานควาย

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า