ฟรีเบิร์ดส ตำนานที่ยังมีลมหายใจ


"คอยแต่เธอ หลงละเมอเพ้อคอยแต่เธอ" เนื้อร้องที่ฮิตติดปากทั่วบ้านทั่วเมืองเพลง "คอย" ครับ แล้วก็อีกเพลง "บางคืนเหงาเศร้าตรมฤทัย สุดจะฝืนกล้ำกลืนน้ำตา" เนื้อร้องเพลง "สิ่งสุดท้ายคือเธอ" พูดถึงสองเพลงนี้เพื่อนๆที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับผมคงจำกันได้นะครับ เพราะสองเพลงนี้เป็นเพลงสุดฮิตในยุคนั้นเลย นั่นคือวง"ฟรีเบิร์ดส" เป็น"ตำนานที่ยังมีลมหายใจ"จากยุค80 วงดนตรีในดวงใจของผมและวัยรุ่นเมื่อ 30 กว่าปีก่อน เรามาย้อนเวลาทบทวนความทรงจำเก่าๆในวันวานไปด้วยกันนะครับ
วันเวลาช่างผ่านไปรวดเร็วซะเหลือเกินครับ จากวัยรุ่นสู่รุ่น ลุง ป้า น้า อา ซะแล้ว ผมยังจำภาพบรรยากาศเก่าๆในสมัยนั้นได้ชัดเจนอยู่เลย เทปคาสเซ็ท ซาวด์เบาท์ ตู้เพลง เป็นเครื่องเล่นที่สร้างความสุนทรีย์ ตอนนั้นผมเรียนมัธยมต้นยังละอ่อนหน้าใสกริ้ง เพลงคอย กับ เพลงสิ่งสุดท้ายคือเธอ เป็นเพลงที่ผมกับเพื่อนๆชอบเอามาร้องเอามาเล่นจีบสาวเป็นประจำ รู้สึกว่าเอามาร้องแล้วหล่อเลย ในช่วงเวลานั้นเป็นรอยต่อระหว่างเพลงยุคเก่าๆ จากเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง เข้าสู่ยุคเพลงสตริงอย่างเต็มตัว ศิลปินเดี่ยวยังไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าวงดนตรีที่ดังกันแบบเปรี้ยงป้าง

วงฟรีเบิร์ดส จุดประกายให้ผมอยากเล่นดนตรี อยากเป็นนักดนตรี ทำให้ผมและวัยรุ่นในยุคนั้นหันมาเล่นดนตรี ผมเรียนอยู่โรงเรียนบางกะปิ ทุกปีจะมีการประกวดแข่งขันวงสตริงคอมโบ ซึ่งเป็นงานใหญ่ของโรงเรียน  ผมกับเพื่อนๆเอาเพลงของวงฟรีเบิร์ดสนี่ล่ะมาแกะเล่นประกวดกัน มีหลายวงที่เอาเพลงของฟรีเบิร์ดสมาเล่นประกวดเหมือนกัน นึกถึงตอนที่ไปซ้อมดนตรี เล่นกันแค่ห้าหกคนแต่เอาเพื่อนไปด้วยอีกเป็นสิบ โดยเฉพาะสาวๆที่เราหรือเพื่อนแอบชอบจะต้องพาไปด้วย โชว์สาว555 อัดกันเต็มห้องซ้อมดนตรีเลย อารมณ์ตอนนั้นก็รู้สึกเหมือนเล่นคอนเสิร์ตล่ะครับ นึกถึงแล้วยังขำตัวเองอยู่เลย

ยุคนั้นเป็นยุคที่เฟื่องฟูของ "เทปคาสเซ็ท" อย่างที่ผมเกริ่นไว้ตอนต้น เทปเพลงไทยขายดิบขายดีเป็นที่ต้องการในท้องตลาด มีวงดนตรีดังๆแจ้งเกิดขึ้นมาในยุคนั้นมากมายหลายวง อย่างเช่น คีรีบูน ซิกเซ้นส์ บรั่นดี ฟรุ๊ตตี้ ฯลฯ ตู้เพลงในร้านขายอาหารตามมีเพลงไทยของวงเหล่านี้ไว้ให้หยอดเหรียญเลือกฟัง พร้อมเพลงสากลเพราะยุค70,80  ค่ายเพลงอย่างเช่น รถไฟดนตรี นิธิทัศน์ อาเอสซาวด์ แกรมมี คีตา ก็เริ่มบุกเบิกก่อร่างสร้างค่ายจากตอนนั้น 

จนมาถึงวันนี้สิ่งต่างเหล่านั้นได้กลายมาเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของการบันเทิงบ้านเรา ซึ่งผมเองก็ยังรู้สึกภูมิใจมากๆที่มีโอกาศได้สัมผัส รับรู้กับบรรยากาศ และอยู่ในห้วงเวลาเหล่านั้นจริงๆ ช่วงเวลาตั้งแต่ก่อน ค.ศ.1980 นิดหน่อย ที่ร่วมเดินทางประวัติศาสตร์เหล่านี้มาด้วยกันมันเป็นอะไรที่วิเศษมากมายในชีวิตเลยล่ะครับ

เพลงสากลที่เข้ามานิยมในบ้านเราก็มีแต่เพลงเพราะๆทั้งนั้น บางเพลงฮิตติดหูกันมาถึงปัจจุบัน ส่วนเพลงไทยไม่ต้องพูดถึงครับ คนยังฟังกันมาจนถึงทุกวันนี้ มันเหมือนเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากยุคของ ลิเก เพลงลูกกรุง ลูกทุ่ง เข้าสู่ช่วงเวลาของเพลงสตริงอย่างเต็มตัวครับ แล้วคำว่า ยุค80 ส่วนหนึ่งคงมาจากอิทธิพลของเพลงในช่วงนั้นด้วย

นึกถึง "เทปคาสเซ็ท" ในตอนนั้นมันเป็นอะไรที่ไปถึงขีดสุด เทปเพลงมีวางแผงขายอยู่ทั่วไปตามท้องตลาด แม้แต่ตลาดนัดก็ยังมีอยู่ถึงสองสามแผงในตลาดเดียว คนขายเปิดเพลงกันดังสนั่นเพื่อเรียกลูกค้า เพลงฮิตถูกนำมาเปิดซ้ำไปซ้ำมาเพื่อจูงใจคนที่เดินผ่านไปผ่านมา เป็นการดึงดูดให้เข้ามาหาแผงเทปอย่างหนึ่ง คนเข้ามามุงดูเลือกดูเทปต่างๆ เสียงเพลงที่คนซื้อให้คนขายเปิดลองฟังก่อนการซื้อขาย เสียงกดเทปกรอเทป พูดถึงกรอเทป ในยุครุ่งเรืองสุดของเทปคาสเซ็ท จะมีเครื่องเล่นแบบสองหัวเทปไว้กรอเทปหรือเครื่องสำหรับกรอเทปโดยเฉพาะก็มี บรรยากาศอย่างนี้มันหายไปหมดแล้วครับ อาชีพขายเทป ขายแผ่นซีดีเพลงก็หายไปจากห้างสรรพสินค้าและท้องตลาด เมื่อระบบโซเชียลมีเดียเข้ามาแทนที่ระบบอนาล็อก

พวกเทปเพลงสากลถูกก๊อปปี้มาวางขายกันเกลื่อน ตอนนั้นยังไม่เข้มงวดเรื่องลิขสิทธิ์เพลง ทั้งเพลงแบบเป็นเทปวง หรือรวมฮิตมาวางขายกันเพียบ ราคาม้วนละ 15,20,25,บาท ตามความยาวของเทปครับ ส่วนเทปเพลงไทยเราไม่นิยมของก๊อปเพราะรู้สึกว่าเสียงมันไม่ใส ที่สำคัญเราชอบสีสรรของตลับเทปและปกเทป เอามาเก็บสะสม เป็นของสะสม ของรักของหวงอย่างหนึ่งเลยครับ

รายการคอนเสิร์ตสุดฮิตในยุคนั้นถ้าพูดถึงท่านผู้อ่านต้องจำได้คือ "รายการโลกดนตรี" ทาง ททบ.5 สนามเป้า วงฟรีเบิร์ดสทำให้ "คุณเสกสรรค์ ภู่ประดิษฐ์" เจ้าของรายการต้องย้ายรายการออกมาจัดนอกห้องส่งในสัปดาห์ต่อมาหลังจากที่วงฟรีเบิร์ดสมาเล่นคอนเสิร์ตเพราะประตูห้องส่งพัง จากการเบียดเสียดของแฟนเพลงที่เข้ามาชมกันแบบแน่นขนัดล้นเกินความจุที่จะรับไหว เหตุการณ์ครั้งแรกที่คนเข้ามาดูคอนเสิร์ตโลกดนตรีจนล้นห้องส่งคือวงแกรนด์เอ็กซ์ ต่อมาคือวง "ฟรีเบิร์ดส" นี่ล่ะครับ

นึกถึงบรรยากาศช่วงพีคสุดของ "ดิสโก้เธค" ที่ถูกกล่าวขานว่าดีสุดในเอเชียตอนนั้นคือ "เดอะพาเลซ" ที่กำลังรุ่งเรืองถึงขีดสุด ท่านผู้อ่านหลายๆท่านคงเคยได้ไปเที่ยวกันมาบ้างแล้วนะครับ รถซิ่งถนนวิภาวดี สยามสแควร์ ห้างมาบุญครอง ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว เดอะสเก็ต สวนสยาม แดนเนรมิต รายการจิ๊กโก๋ยามบ่าย สิ่งเหล่านี้รุ่งเรื่องสุดๆในยุคนั้น ยุคที่วงฟรีเบิร์ดสกำลังดังถึงขีดสุดเช่นกัน

ค่ายเพลงดังๆอย่างเช่น รถไฟดนตรี อาเอสซาวด์ แกรมมี่ คีตา กำลังเฟื่องฟู ผลิตศิลปินดีๆมีคุณภาพออกมาสู่วงการเพลงบ้านเรามากมาย หลายวงกลายมาเป็นตำนานที่ยิ่งใหญ่ในวันนี้ เป็นช่วงเวลาที่ผมเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทางดนตรีจากการฟังเพลงได้มากที่สุด

ท่านผู้อ่านหลายๆท่านคงเกิดทันเรื่องที่ผมเล่ามานี้ใช่ไหมครับ ยังจำบรรยากาศแห่งความสุขความทรงจำ ที่สวยงามในช่วงเวลาเหล่านั้นได้หรือเปล่า ส่วนตัวผมเองในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ผมประทับใจและมีความสุขมากที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิต จนปัจจุบันผมยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่เคยทิ้งมันมาเลยจากช่วงเวลานั้นถึงเวลานี้ คือการฟังเพลงนี่ล่ะครับ อย่างเช่นเพลงของวงฟรีเบิร์ดสผมยังเอามาเปิดในรถอยู่เลย

ประวัติความเป็นมาของวงฟรีเบิร์ดส

คุณ ประวิทย์ พงษ์ธนานิก น้องชายของคุณ ระย้า ประเสริฐ พงษ์ธนานิกร และ คุณ ตะวัน ประสิทธิ์ พงษ์ธนานิก สองนักจัดรายการวิทยุชื่อดัง รถไฟดนตรี ฟอร์มวงดนตรีเล่นกันในหมู่เพื่อนๆ เพลงที่เล่นส่วนใหญ่เป็นแนว country & southern rock ชื่อวงตั้งตามชื่อเพลง Free Bird ของวง ลินเนิร์ด สกินเนิร์ดซึ่งเป็นวงที่พวกเขาชื่นชอบ ระย้าได้ชักชวนประวิทย์ออกผลงานเพลง โดยคุณ ระย้าเป็นผู้ดูแลการผลิตให้ และ ตะวันดูแลการแต่งเพลงให้ ผลปราฏว่าผลงานชุดแรก "คอย" ออกวางจำหน่ายในปี 2525 โด่งดังด้วยบทเพลง "คอย" และ "สิ่งสุดท้ายคือเธอ" เมื่อครั้งที่พวกเขาแสดงสดในรายการโลกดนตรี ห้องส่งที่ใช้แสดงออกอากาศอัดแน่นไปด้วยผู้ชม เป็นความแน่นในระดับเดียวกันกับวันที่ แกรนด์เอกซ์ พึ่งมาเปิดการแสดงก่อนหน้าไปไม่กี่ครั้ง หลังจากนั้นผลงานในชุดต่อมา ยังประคองความสำเร็จจากชุดแรกไว้ได้ 

ในยุคนั้นนักร้องนำคุณ ประวิทย์ พงษ์ธนานิกร (พี่วิทย์) ถือว่าเป็นนักร้องนำที่หน้าตาดีออกแนวหนุ่มหน้าตี๋ซึ่งเป็นสไตล์นิยมของวัยรุ่นในยุคนั้น เหมือนในยุคนี้ที่เรานิยมหนุ่มเกาหลี ทำให้แฟนเพลงคลั่งไคร้มากๆ เสียงร้องที่เอกลักษณ์เฉพาะตัว อีกทั้งเพลงที่ออกมาแต่ละเพลงก็ฮิตติดตลาดมากมายหลายเพลง ทำให้วงครองใจแฟนเพลงอยู่แถวหน้าในยุคนั้นเลยทีเดียว 

พูดถึงวงฟรีเบิร์ดทำให้ผมนึกถึงเพลงในช่วงเวลานั้น ทัังวงไทยและวงต่างประเทศมีเพลงดีๆออกมามากมายเลยทีเดียว คำว่า ดนตรียุค80 เกิดขึ้นมาในช่วงนี้เลยครับ เพลงฮิตของฟรีเบิร์ดส เช่น คอย สิ่งสุดท้ายคือเธอ สาวน้อย จบเกมส์ พบเธอ ความผันแปร รักที่สูญเปล่า คนที่ถูกใจ ฯลฯ ปัจจุบันวงฟรีเบิร์ดยังมีผลงานเพลงใหม่ๆออกมา และยังมีคอนเสิร์ตบ่อยๆนะครับ


ติดตามได้ข่าวต่างทาง ฟรีเบิร์ด ชาแนล คลิกที่รูปเลยครับ

ฟรีเบิร์ดแฟนคลับคลิก

Tag

รวม เพลง ฮิต ดัง ยอดนิยม แจ้งเกิด ค่าย รถไฟดนตรี วงดนตรี ใน ยุค 80 วงสตริง คอย สิ่งสุดท้ายคือเธอ ความผันแปร รักที่สูญเปล่า จบเกมส์ สาวน้อย วงที่ทำให้ค่ายรถไฟดนตรีเป็นที่รู้จัก ผู้ก่อตั้งวง วงดนตรีไทย ดังที่สุด เพลงไทยที่ดังที่สุด นักร้องที่ทำให้วัยรุ่นหันมานิยมหน้าตาแบบตี๋ๆ นักร้องหน้าตาตี๋ๆ ประวัติความเป็นมา ติดต่อ งานแสดง นกอิสระ รีวิว ส่อง ตามหา ตามติด ฉายา นกอิสระ ตำนาน ที่อยู่ ทบทวน ความทรงจำ เจาะเวลา 

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า