เพ้อพร่ำไปตามคลอง แสนแสบ แสบแสน เปรียบแม้นชื่อคลอง


การเดินทางโดยทางเรือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนกรุงเทพฯ ที่เราสามารถกะเวลาการเดินทางได้ค่อนข้างแน่นอนรองจากรถไฟฟ้าครับ เรือโดยสารให้บริการทุกวัน 5:30 - 20:30 น. (วันหยุดสุดสัปดาห์ 19:00 น.) เรือโดยสารคลองแสนแสบเป็นการเดินทางที่มีประโยชน์อย่างมากในกรณีดินทางไปหรือมาจากสยาม จะมีผู้โดยสารหน่าแน่นในชั่วโมงเร่งด่วน 


วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่ผมมาใช้บริการทางเรือ จะขอเพ้อพร่ำไปด้วย มีสาระบ้าง ไร้สาระบ้าง ท่านผู้อ่านอย่าว่ากันนะครับ เดินทางไปด้วยกันนะ  ผมเริ่มต้นจาก "ท่าเรือวัดศรีบุญเรือง" บางกะปิ ซึ่งเป็น "ท่าแรกทางฝั่งคลองแสนแสบ" จุดหมายปลายทางคือ "ท่าเรือผ่านฟ้า" สุดระยะของเรือสายนี้ที่ "คลองมหานาค" ผมจะไปซื้อของที่ "บ้านหม้อ" เดินทางแบบนี้ประหยัดเวลามาก ใช้เวลาไปกลับแค่นิดเดียว


ผมมาจอดรถไว้ที่ "ลานจอดรถวัดศรีบุญเรือง" เสียค่าจอด 30 บาท พอจอดรถก็เดินไปลงเรือเลย ลานจอดรถอยู่ติดกับท่าเรือ ท่านที่เอารถส่วนตัวมาแวะจอดที่นี่ใกล้ที่สุดครับ ความจริงบริเวณรอบๆก็มีที่ให้จอดอยู่หลายแห่งที่คนพื้นที่รู้ว่าจอดรถได้ตลอดทั้งวัน แต่ผมไม่ขอเอ่ยถึงนะครับ เดี๋ยวเจ้าของที่มาอ่านเจอจะมาต่อว่าผมได้ สมัยนี้เรื่องนำจิตน้ำใจของคนไทยที่มีให้กันลดน้อยถอยลงทุกที เรื่องที่จอดรถเป็นเรื่องหนึ่งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนมีปัญหาให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ ระหว่างเจ้าของที่กับคนที่เอารถมาจอด


"การเดินทางโดยทางเรือ" เป็นอีกบรรยากาศหนึ่งของการเดินทางครับ ไปเรื่อยๆสบายๆ มีลมโกรกหน้าตลอดเวลา แม่น้ำลำคลองไม่จ๊อกแจ๊กจอแจแออัดเท่ากับถนน ทำให้รู้สึกโล่งอกโล่งใจกว่าเยอะ "แต่ถ้าเป็นเวลาเร่งด่วน ตอนเช้า กับ ตอนเย็น ก็ชุลมุนวุ่นวายอยู่เหมือนกัน" สำหรับผมจะเลี่ยงเวลาเร่งด่วน มาใช้บริการในช่วงสายๆ จนถึงก่อนสี่โมงเย็น วันจัทร์-ศุกร์ นั่งเรือเล่นกินลมชมวิวได้อย่างสบายๆ ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ ก็มีผู้มาใช้บริการค่อนข้างหนาตาทั้งวันเหมือนกัน


น้ำในคลองอาจะดูดำๆไปสักหน่อย แต่เดี๋ยวนี้ดีกว่าเดิมที่ไม่ค่อยมีกลิ่นน้ำเน่าเสียมากเท่าไหร่ ได้ร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่และตึกสูงทำให้ทั่วบริเวณร่มรื่นสบายใจดีครับ ทำให้จินตนาการไปถึง ภาพยนตร์เรื่อง "แผลเก่า" ของ "เชิด ทรงศรี" เมื่อปี พ.ศ.2520 ตำนานรักของ "ขวัญกับเรียม" ที่โด่งดังแห่งคลอง "แสนแสบ" ที่ใช้โลเคชั่นคลองนี้ถ่ายทำดำเนินเรื่อง นึกถึงเนื้อเพลง "ขวัญเรียม" ที่ท่อนหนึ่งบรรยายว่า "คลองที่เรียมเคยเที่ยวเคยท่อง เมื่อเราสองต่างว่ายต่างว่องล่องไล่ไม่เว้น เช้า สาย บ่าย เย็น ขวัญลงเล่น กับเรียม" 

จากเนื้อเพลงทำให้เราพอจะเห็นภาพคลองแสนแสบในอดีตว่า "น้ำคงจะใสสะอาดมากๆ บรรยากาศจะต้องดีสุดๆ" จึงทำให้เกิดตำนานรักสุดคลาสสิคขึ้น ณ. สถานที่แห่งนี้ ด้วยจินตนาการปลายปากกาของ "ไม้ เมืองเดิม" กลับมามองถึงสภาวะปัจจุบัน หากขวัญกับเรียมลงมาเล่นน้ำในคลอง คงจะคันไปทั้งตัวหรืออาจจะโดนเรือที่แล่นไปมาชนเอาก็เป็นได้ครับ  

คิดแล้วอยากให้มีการร่วมมือร่วมใจกัน ทำให้แม่น้ำลำคลองทุกสายกลับมามีสภาพที่ดีเหมือนในอดีต ไม่มีน้ำเน่าเสีย หากเป็นไปได้เราจะได้สิ่งที่ดีๆตอบแทนกลับมาเป็นรางวัลโดยไม่รู้ตัวทันที อย่างเช่น 
  • ยุงและสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคที่เกิดจากแหล่งน้ำเน่าเสียจะหมดไป ช่วยลดอันตรายจากการนำโรคสู่คนและสัตว์เลี้ยง 
  • สุขภาพของคนที่อยู่ใกล้แม่น้ำลำคลองจะดีขึ้น เพราะไม่ต้องไปสูดดมกลิ่นน้ำเน่าเสียอยู่ทุกวี่ทุกวัน 
  • สามารถนำน้ำจากในคลองขึ้นมาใช้ซักล้างได้ฟรีๆ
  • นำน้ำมาใช้ในการเกษตรได้อย่างสบายๆ
  • กลายเป็นแหล่ง กุ้ง หอย ปู ปลา ธรรมชาติจับกินได้อีกต่างหาก
ที่ผมยกมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นนะครับ น้ำดี ให้สิ่งดีๆกับ คน สัตว์ และพืช เสมอล่ะครับ


"ใครเป็นคนตั้งชื่อคลองแสนแสบ" สำหรับที่มาของชื่อคลองแสนแสบนั้น มีข้อสันนิษฐานดังนี้

ว่ากันว่าชื่อคลองที่เรียกว่า "แสนแสบ" นั้นเพราะยุงชุม โดยมีหลักฐานจากบันทึกการเดินทางของนักสำรวจชาวอังกฤษชื่อนาย ดี.โอ. คิง ความว่า " คลองนี้ยาวถึง 55 ไมล์ เชื่อมนครกรุงเทพฯ กับแม่น้ำบางปะกง บริเวณที่ราบชนบท คนพื้นเมืองเป็นคนเชื้อสายมาเลย์ ไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรอยู่ก็ตาม มือข้างหนึ่งจะต้องใช้ปัดยุงเสมอ"

เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาเขมรว่า "แสสาบ" เพราะในสมัยหนึ่งคนไทยเคยเรียกทะเลว่า "เส" หรือ "แส" ส่วนคำว่า "สาบ" เป็นภาษาเขมรแปลว่า "จืด" คำนี้คนไทยยืมมาใช้เรียกทะเลน้ำจืดว่า "ทะเลสาบ" อย่างที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น "แสสาบ" หรือที่แปลว่าทะเลน้ำจืด อาจถูกนำมาใช้เรียกคลองน้ำจืดอันกว้างและยาวแห่งนี้ แล้วเพี้ยนเสียงกลายมาเป็น "แสนแสบ" ตามกาลเวลาที่ผ่านไป ประกอบกับในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ไทยได้กวาดต้อนเชลยศึกชาวเขมรมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ย่านบางกะปิเป็นจำนวนมาก ชาวเขมรจึงอาจเรียกคลองที่ไหลผ่านแหล่งชุมชนของตนด้วยภาษาเขมร แล้วเพี้ยนมาเป็นแสนแสบดังที่กล่าวไปแล้ว

"แสนแสบ" น่าจะเพี้ยนมาจากคำมลายู "เซนแญป" เป็นชื่อเรียกขานของชาวมุสลิมที่ถูกกวาดต้อนมาจากหัวเมืองภาคใต้ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และมาตั้งบ้านเรือนแถบวัดชนะสงคราม กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อขุดคลองแล้วเสร็จและเสร็จศึกจึงให้มาอยู่ตามแนวคลองนั้น และเนื่องจากเคยอาศัยอยู่ริมคลองใกล้ทะเล กระแสน้ำแรง เมื่อมาอยู่ริมคลองที่น้ำไหลช้า ค่อนข้างนิ่ง จึงเรียกคลองนี้ว่า "สุไหงแซนแญบ" หรือคลองที่เงียบสงบ โดยสุไหงแปลว่าคลองหรือแม่น้ำ และแซนแญบหมายถึงเงียบสงบ ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนกันไปเป็นแสนแสบ


ผมเริ่มต้นเดินทางจากท่าวัดศรีบุญเรืองต้นทางผ่าน เดอะมอลล์บางกะปิ รามคำแหง คลองตัน เพชรบุรีตัดใหม่ ไปจนถึงท่าเรือประตูน้ำ พอถึงที่นี่ก็ต้องลงต่อเรือที่ทรงเตี้ยกว่าตอนแรก เพราะจากท่าเรือประตูน้ำไปจนถึงท่าเรือผ่านฟ้า จะมีสะพานเตี้ยๆอยู่หลายสะพาน ถ้าเป็นเรือทรงสูงจะผ่านไปไม่ได้ ตีตั๋วยาวจากท่าเรือวัดศรีบุญเรืองถึงท่าเรือผ่านฟ้าเลย ถือตั๋วจากเรือลำเก่ามาขึ้นมาใช้ที่เรือลำใหม่ได้เลย 

ค่าโดยสารจาก "ท่าเรือวัดศรีบุญเรืองถึงประตูน้ำ" กับ "ท่าเรือวัดศรีบุญเรืองถึงท่าเรือผ่านฟ้าราคาเดียวกัน" แต่ต้องบอกกระเป๋าเรือว่าลงผ่านฟ้า กระเป๋าเรือจะไม่เจาะตั๋วนำไปใช้ต่อเรือได้เลย ยื่นตั๋วให้กระเป๋าเรืออีกลำดูตั๋วคราวนี้เขาจะเจาะตั๋วเรา แต่ถ้าบอกลงประตูน้ำเขาจะเจาะตั๋วตั้งแต่แรก เอาไปใช้ต่อเรือไม่ได้นะครับ


อุบัติเหตุร้ายแรงทางเรือในคลองแสนแสบ 

วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 09:45 น. เรือโดยสารคลองแสนแสบเดินทางจากท่าน้ำวัดศรีบุญเรือง ในเขตบางกะปิ จนถึง ท่าสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ระหว่างทางไปจุดต่อเรือที่ ท่าประตูน้ำ ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ห้องเครื่องของเรืออย่างรวดเร็ว ทำให้พนักงานขับเรือ นำเรือเข้าเทียบท่าทองหล่อ 

วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2559 เมื่อเวลาประมาณ 06.20 น. เกิดเหตุเรือโดยสารระเบิดในคลองแสนแสบ บริเวณท่าเรือวัดเทพลีลา ซอยรามคำแหง 39 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ โดยบนเรือมีผู้โดยสารราว 70 คน จากเหตุระเบิด ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 58 ราย และบาดเจ็บสาหัส 2 ราย 

ส่วนสาเหตุของเรือโดยสารระเบิดตูมสนั่นทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมากนั้น เบื้องต้น คาดว่าเนื่องจากเครื่องยนต์ระเบิด จากเหตุการณ์เรือระเบิดดังกล่าวทำให้ยกเลิกการใช้แก๊ส แก๊สธรรมชาติเหลว (LNG) จึงทำให้ปัจจุบันเรือโดยสารคลองแสนแสบใช้เพียงดีเซลในการขับเคลื่อนเรือ


จากท่าเรือวัดศรีบุญเรืองถึงท่าเรือประตูน้ำ ใช้เวลาไม่เกิน 40 นาที ดูระลอกคลื่นสิครับ ทำให้เรามองเห็นความเร็วของเรือได้ชัดเจนขึ้น ความจริงเรือสมัยนี้ก็แล่นไปได้เร็วอยู่เหมือนกัน กะเอาด้วยความรู้สึกก็น่าจะประมาณ 40-50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เสียงเรือก็ดังเอาเรื่องอยู่เหมือนกันครับ แต่มันก็เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของเรือนี้ได้ความรู้สึกไปอีกแบบ ถ้านั่งไปบ่อยๆก็จะชินไปเอง ผ่านไปตามทางมีหลายๆบรรยากาศให้เห็น อย่างเช่น หลังห้างดัง วัดวาอาราม มัสยิด โรงเรียน ชุมชนริมคลอง  บ้านคนรวยริมคลอง ศาลาริมน้ำ สวนริมน้ำ และอะไรๆที่ดูแปลกตาอีกสารพัดที่เราจะไม่ได้เห็นเวลานั่งรถ


สองฝั่งคลองที่เรื่อแล่นผ่านไปเหมือนมีเรื่องเล่าอยู่ตลอดเวลา ผ่านไปในแต่ละที่ก็มีความรู้สึกแตกต่างกันไป จินตนาการไปได้สารพัดตามนิสัยคนช่างเพ้อฝันครับ ตึกสูงสวยงาม บ้านเล็กบ้านน้อย  วัดวาอาราม มัสยิด โรงเรียน สิ่งเหล่านี้ล้วนมีความเป็นมาแทบทั้งสิ้น บางที่ดูอึมครึม เงียบเหงา รกร้าง วังเวง บางที่ก็ดูร่มรื่น สดชื่น เย็นใจสบายตาดี จากท่าหนึ่งล่องไปอีกท่าหนึ่ง จากคลองแสนแสบกว่าจะมาถึงคลองมหานาค นั่งกินลมชมวิวมาเรื่อยๆ จินตนาการมากมายประเดประดังพรั่งพรู่ออกมา ตามกระแสน้ำที่เรือแหวกว่ายแตกกระจายผ่านไปอย่างไม่ขาดสาย เพลินๆไปจนแทบจะผลอยหลับในบางจังหวะ เคลิบเคลิ้มมาเป็นระยะๆ แต่ก็สะดุ้งตื่นขึ้นมาทุกที


เรือโดยสารในกรุงเทพมหานคร มีอยู่หลายเส้นทาง หากเรารู้จักเลือกใช้จะทำให้การเดินทางสะดวกสบายขึ้นมากเลยล่ะครับ เพราะส่วนใหญ่จะผ่านจุดสำคัญๆของเมืองนั้น มีทั้งเรือโดยสารที่แล่นประจำทางในแม่น้ำและเรือโดยสารที่แล่นประจำทางในลำคลอง

ทำไมแม่น้ำลำคลองจึงตัดผ่านจุดสำคัญๆของเมือง ด้วยเหตุผลที่ว่าตั้งแต่โบราณนานมา บรรพบุรษของเราจะลงหลักปักฐานก่อร่างสร้างเมือง ชัยภูมิที่ดีจะต้องมีแม่น้ำไหลผ่าน เพื่อจะได้มีน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภค ไว้ใช้ทางการเกษตร การเดินทาง และการขนส่ง แม่น้ำจึงเป็นตัวเลือกสำคัญอย่างหนึ่งเสมอ แล้วยังขุดคลองต่างๆขึ้นมาเพื่อให้มีความสะดวกในการเดินทางและการขนส่งอีกด้วย


จากท่าเรือประตูน้ำถึงท่าเรือผ่านฟ้าใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีโดยประมาณ ในช่วงเวลาเร่งด่วนจะใช้เวลาเดินทางมากกว่านี้นะครับ เพราะเรือจะต้องจอดให้ผู้โดยสารขึ้นลงตลอดทาง ที่สะดุดตาผมอีกอย่างหนึ่งคือนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาใช้บริการทางเรือค่อนข้างมีจำนวนมากเลยทีเดียวเชียว ทั้งชาวยุโรป จีน ญี่ปุ่น แขก ฯลฯ มาใช้บริการกันครบเลยครับ อาจจะเป็นเพราะเส้นทางเรือจาก "คลองแสนแสบถึงคลองมหานาค" ตัดผ่านใจกลางกรุงเทพซึ่งมี โรงแรม ที่พัก ร้านค้า ร้านอาหาร แหล่งช้อปปิ้ง จึงเป็นจุดเชื่อต่อในการเดินทางได้พอดี ทำให้นักท่องเที่ยวหันมาเดินทางโดยทางเรือซึ่งมีความสะดวกและรวดเร็วกว่าครับ 


มองไปก็คิดไปในฐานะที่เราเป็นเจ้าบ้าน ผมก็ไม่รู้ว่าชาวต่างชาติที่เขามาเยี่ยมเยือนประเทศเราจะคิดยัง เวลาที่เดินทางโดยเรือทางเรือ อาจจะชอบ ไม่ชอบ ชม หรือ ว่าตามหลัง ไม่มีใครรู้ได้ แต่ผมอยากให้มีการปรับปรุงให้ดีเอาไว้ก่อน อยากให้ดีกว่านี้ครับ ไม่ต้องทำทั้งหมด ขอแค่จุดสำคัญๆที่จำเป็น เริ่มจากเรื่องน้ำต้องทำให้ดีขึ้น ไม่ให้มีน้ำเน่าเสียส่งกลิ่นอันไม่เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของเราเลย ขยะและสิ่งปฎิกูลต้องกำจัดให้หมด ปรับภูมิทัศให้สวยงามกว่านี้ 

ดูจากผู้คนที่เขาต้องเดินทางไปมาผ่านในเส้นทางน้ำสายนี้ คนส่วนหนึ่งเป็นชาวต่างชาติ เป็นนักธุรกิจ ผู้บริหาร นักท่องเที่ยว หรืออาจจะมีบุคคลสำคัญระดับประเทศแฝงตัวมาดูวิถีชีวิตชายคลองของเราก็เป็นได้ ผู้คนเหล่านี้นำผลประโยชน์และเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ประเทศเรา ความประทับใจจะช่วยดึงดูดให้เขาเหล่านี้วนเวียนกลับเข้ามาในประเทศเราอยู่เรื่อยๆ ความประทับใจเป็นสิ่งสำคัญ อะไรที่เราทำได้ก็ต้องทำให้ดีที่สุด อย่างน้อยก็เรื่องภาพลักษณ์ครับ อยากให้เขาไปบอกต่อว่าประเทศของเราว่ามันดียังไง สวยงามยังไง มันเจ๋งขนาดไหน จริงไหมล่ะครับ 


โครงการเดินเรือในคลองมีความคิดริเริ่มมาในช่วง "จำลอง ศรีเมือง" เป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานครสมัยแรก โดยได้หาวิธีแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัดบนท้องถนน ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการที่กรุงเทพมหานคร จะใช้การขนส่งทางน้ำผ่านคลองต่าง ๆ ที่มีอยู่เข้ามาช่วย และเริ่มศึกษาโครงการเมื่อปลายปี 2531-2532 โดยทางสำนักงานนโยบายและแผนกรุงเทพมหานครได้ทำการศึกษาเส้นทางเดินเรือในคลองที่มีแนวโน้มความเป็นไปได้ไว้ทั้งหมดประมาณ 16 เส้นคลองได้แก่ คลองแสนแสบ คลองพระโขนง คลองประเวศน์ คลองเปรมประชากร คลองตัน คลองสามวา คลองบางซื่อ คลองบางใหญ่ คลองบางกอกน้อย คลองมอญ คลองชักพระ คลองบางมด คลองภาษีเจริญ คลองทวีวัฒนา คลองมหาสวัสดิ์ และคลองสนามชัย 


โครงการถูกนำมาพัฒนาต่อในยุค "จำลอง ศรีเมืองสมัยที่สอง" โดยเลือกคลองแสนแสบเป็นจุดเดินเรือ ในระหว่างนั้นมีหลายบริษัทให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก เช่น องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ก็สนใจติดต่อมาจะขอทำเรือติดแอร์ แล้วก็เงียบหาย และบริษัทสินสมุทรมีหนังสือมาว่าจะขอทำโดยมีเงื่อนไขสัมปทานจาก กทม. 20 ปี แต่ กทม. ไม่มีอำนาจดังกล่าว แต่กรุงเทพสะดุดตากับบริษัท หจก. ครอบครัวขนส่งที่ยื่นเรื่องเข้ามาโดยไม่มีเงื่อนไขอย่างใดเหนือจากการให้บริการและประโยชน์กับประชาชนสูงสุด จึงถูกเลือกให้เข้ามาทดลองทำการเดินเรือในคลองแสนแสบนี้ 

"เชาวลิต เมธยะประภาส" ในนาม หจก. ครอบครัวขนส่งได้คลุกคลีกับเรือมาตั้งแต่เด็ก อาทิการส่งผู้โดยสารจากเจ้าพระยาสู่ปากเกร็ด หรือในครั้งเรียน ม.รามคำแหงเมื่อปี 2514 เชาวลิตมองถึงปัญหาว่ายังไม่มี ขสมก. หรือรถเมล์รับนักศึกษาบริเวณรามคำแหง และได้นำรถวิ่งเส้น ปากคลองตลาด-ม.รามคำแหง อีกทั้งยังนำเรือหางยาวจำนวน 10 ลำมาวิ่งในคลองแสนแสบเพื่อรับส่งนักศึกษาและประชาชนทั่วไป ระหว่างประตูน้ำ กับ ม.รามคำแหง 


ผมผ่านโบ๊เบ๊ พาหุรัด แหล่งค้าส่งใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศเรา เป็นถนนแห่งการขายของกินของใช้มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ชาวไทยและชาวต่างชาติขวักไขว่ไปมา ผู้คนต่างจับจ่ายใช้สอย ทั้งซื้อกิน ซื้อใช้ ซื้อไปขาย ดูมีชีวิตชีวา เม็ดเงินมหาศาลหมุนเวียนที่นี่ สร้างงาน สร้างรายได้ให้ผู้คนในแต่ละวันจนนับไม่ถ้วน  แม้เส้นทางสายนี้ที่เรือแล่นผ่านไปจะมีแต่ความธรรมดาล้าหลัง แต่ความเจริญโอบล้อมอยู่รอบด้าน ตัดผ่านเส้นทางสายเศรษฐกิจสำคัญเส้นหนึ่งของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ สภาวะที่มีแต่น้ำคลำ ความทรุดโทรม ซุกตัวอยู่ในมุมหนึ่งของความศิวิไล แต่อยู่กลางใจของความมั่งคั่งเลยนะครับ


โดยในการเดินเรือจริงจะแบ่งการเดินเรือเป็น 2 ช่วง คือช่วงวัดศรีบุญเรือง - ประตูน้ำ และช่วงประตูน้ำ - ผ่านฟ้าลีลาศ ซึ่งทั้งสองช่วงจะมีจุดเชื่อมต่อที่ท่าเรือประตูน้ำ ผู้โดยสารที่เดินทางผ่านทั้ง 2 ช่วงดังกล่าว (เช่น จากท่าอโศก ไปท่าโบ๊เบ๊ หรือจากท่าผ่านฟ้าลีลาศ ไปท่าเดอะมอลล์บางกะปิ) จะต้องเปลี่ยนเรือที่ท่าประตูน้ำ เพื่อเดินทางต่อไปยังท่าเรือที่ต้องการ


ท่าสุดท้ายของเรือด่วนโดยสารคลองแสนแสบอยู่ที่ ท่าผ่านฟ้าลีลาศ คลองมหานาค ในเส้นทางนี้มีทั้งหมด 28 ท่าเรือ  ส้นทางการเดินเรือมีความยาวประมาณ 18 กิโลเมตรครับ

เรือโดยสารคลองแสนแสบ ดำเนินงานโดยกลุ่มเรือหางยาวที่รวมตัวกันในนาม ห้างหุ้นส่วนจำกัด ครอบครัวขนส่ง เปิดให้บริการครั้งแรกในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2533 จากการชักชวนของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในสมัยนั้นครับ


ท่าเทียบเรือ
วัดศรีบุญเรือง บางกะปิ 
เดอะมอลล์บางกะปิ สายสีส้ม สถานีแยกลำสาลี (กำลังก่อสร้าง)
สายสีเหลือง สถานีแยกลำสาลี (กำลังก่อสร้าง)
สายสีน้ำตาล สถานีแยกลำสาลี (โครงการ)
วัดกลาง 
สะพานมหาดไทย  สายสีส้ม สถานี กกท. (กำลังก่อสร้าง)
มหาวิทยาลัยรามคำแหง  สายสีส้ม สถานี ม.รามคำแหง (กำลังก่อสร้าง)
วัดเทพลีลา 
รามคำแหง 29
เดอะมอลล์ 3 รามคำแหง  สายสีส้ม สถานีรามคำแหง 12 (กำลังก่อสร้าง)
รามคำแหง 1  สายซิตี้ สถานีรามคำแหง
สายสีแดงอ่อน สถานีรามคำแหง (โครงการ)
สะพานคลองตัน 
โรงเรียนวิจิตร 
อาคารชาญอิสสระทาวเวอร์ 
ซอยทองหล่อ 
สุเหร่าบ้านดอน 
วัดใหม่ช่องลม 
อิตัลไทย 
มศว ประสานมิตร 
อโศก  สายเฉลิมรัชมงคล สถานีเพชรบุรี
สายซิตี้ สถานีมักกะสัน
สายสีแดงอ่อน สถานีมักกะสัน (โครงการ)
นานาชาติ 
นานาเหนือ 
สะพานวิทยุ 
สะพานชิดลม 
ท่าประตูน้ำ CEN เรือโดยสารคลองแสนแสบ ช่วงประตูน้ำ - ผ่านฟ้าลีลาศ
สายสุขุมวิท สถานีชิดลม
สายสีส้ม สถานีประตูน้ำ (โครงการ)
สะพานหัวช้าง  สายสุขุมวิท สถานีราชเทวี
สายสีส้ม สถานีราชเทวี (โครงการ)
บ้านครัวเหนือ 
สะพานเจริญผล 
ตลาดโบ๊เบ๊  เรือไฟฟ้าคลองผดุงกรุงเกษม-ท่ากระทรวงพลังงาน
ผ่านฟ้าลีลาศ  สายสีส้ม สายฉลองรัชธรรม สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (โครงการ)


แม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง ล้วนมีเสน่ห์ มีความสวยงามอยู่ตัวเอง มองให้เห็นความสวยงามหัวใจก็เป็นสุข วันเวลาทำให้คลองกลายเป็นของเก่า หากเราร่วมด้วยช่วยกันคนละไม้คนละมือ ช่วยกันดูแลบูรณะ แม่น้ำ คู คลอง หนองบึง เริ่มจากตัวเราช่วยกันเก็บ ช่วยกันทำความสะอาด ไม่ทิ้งขยะลงน้ำ ดูแลแค่จุดที่เราอยู่ หรือจุดที่เราสัญจรไปมา แค่นี้ก็จะทำให้แม่น้ำลำคลองกลับมาสวยงามน่ามองแล้วล่ะครับ 



Tag

ตำนานรักแห่งคลองแสนแสบขวัญเรียม เมื่อปี พ.ศ.2520 "เชิด ทรงศรี" ได้ใช้โลเคชั่น "คลองแสนแสบ" ในการถ่ายทำดำเนินเรื่อง "ตำนานรักแห่งคลองแสนแสบแผลเก่า"   

ขวัญกับเรียมมีอยู่จริงหรือไม่ "เป็นนิยายที่แต่งขึ้นมานะครับ"

ประวัติความเป็นมาคลองแสนแสบ คลองแสนแสบ เป็นคลองที่ขุดขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกงเข้าด้วยกัน ซึ่งมีการใช้ส่วนหนึ่งของคลองสำหรับการขนส่งสาธารณะโดยเรือด่วนที่กรุงเทพ คลองนี้มีความยาว 72 กิโลเมตรไหลผ่าน 21 เขต และเชื่อมคลองสายย่อยกว่า 100 แห่ง

คลองแสนแสบช่วงที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครอยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานครและช่วงที่อยู่นอกเขตกรุงเทพมหานคร อยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน ส่วนกรมเจ้าท่าจะดูแลในส่วนของยานพาหนะที่สัญจรในคลองแสนแสบ

เวลาให้บริการของเรือโดยสารคลองแสนแสบ เรือโดยสารให้บริการทุกวัน 5:30 - 20:30 น. (วันหยุดสุดสัปดาห์ 19:00 น.) เรือโดยสารคลองแสนแสบเป็นการเดินทางที่มีประโยชน์อย่างมากในกรณีดินทางไปหรือมาจากสยาม จะมีผู้โดยสารหน่าแน่นในชั่วโมงเร่งด่วน 

ระยะทางของเรือโดยสารคลองแสนแสบยาวเท่าไหร่ "คลองนี้มีความยาว 72 กิโลเมตร" ไหลผ่าน 21 เขต และเชื่อมคลองสายย่อยกว่า 100 แห่ง 

เรือโดยสารคลองแสนแสบเริ่มต้นจาไหนถึงไหน "เพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกงเข้าด้วยกัน"

ใครเป็นผู้ริเริ่มโครงการเรือโดยสารคลองแสนแสบ "จำลอง ศรีเมือง"

ภาพยนตร์เรื่องแผลเก่าพูดถึงคลองแสนแสบในยุคไหน 

หนังที่พูดถึงคลองแสนแสบเรื่องอะไร 

เริ่มต้นจากไหนถึงไหน 

ไปตลาดบางกะปิลงท่าเรือไหน 

เรือโดยสาร ท่าเรือ วันหยุด

ไม้เมืองเดิม แผลเก่า นิยายรักคลองแสนแสบ

เรื่องเล่าของขวัญกับเรียม ตลาดนัดขวัญเรียม ศาลขวัญเรียม

เรื่องเล่าริมคลอง เรื่องเล่าชายคลอง คุยไปตามคลอง 

เรื่องเล่าจาก แม่น้ำ ลำคลอง ชายคลอง สายนำ ชายน้ำ คุยไปตามลำคลอง อ่านสบายใจไม่เน้นสาระ บทความอ่านเล่น บทความอ่านเล่นเพลินๆ บทความบ้านๆ เรื่องเล่าชาวบ้าน นั่งเรือเล่น

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า